fbpx
บ้านสะอาดเหมือนใหม่ แบบเร่งด่วน
สิงหาคม 24, 2020
จัดการบ้านอย่างไร เมื่อไปเที่ยวหลายวัน
กันยายน 4, 2020

ทำไมบ้านถึงมีเชื้อราทั้งๆ ที่ทำความสะอาดเป็นประจำ สาเหตุก็เพราะการเกิดเชื้อราและการกำจัดเชื้อรามีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง 

บางอย่างคุณอาจนึกไม่ถึงหรือมองข้ามไป มาทำความเข้าใจปัญหาเชื้อราในบ้านให้ลึกซึ้งถึงต้นตอไปจนถึงทางแก้ไข

เชื้อราคืออะไร

เชื้อราเป็นจุลินทรีย์จำพวกเดียวกับเห็ดราและยีสต์ ทำหน้าที่ย่อยสลายสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว โดยเชื้อราเริ่มจากการเป็นสปอร์ขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าปลิวอยู่ในอากาศ เมื่อไปตกบนที่ที่มีสภาวะเหมาะสมก็จะเจริญเติบโตและรวมเป็นกลุ่มก้อนฟูๆ ที่เราเห็น 

สปอร์ของเชื้อราขยายพันธุ์และเติบโตได้เร็วมากหากอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งเชื้อราเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่อับชื้น มีความมืด มีออกซิเจน มีอุณหภูมิปานกลางคือไม่ร้อนหรือไม่เย็นเกินไป และมีอาหารของเชื้อรา ได้แก่ เศษซากสิ่งมีชีวิตและอินทรีย์วัตถุ 

ดังนั้น วิธีกำจัดเชื้อราง่ายๆ คือไม่ทำให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อรา

เชื้อราเข้ามาอยู่ในบ้านกับเราได้อย่างไร

ถ้าเป็นนอกบ้าน เชื้อรามีอยู่ทุกที่เพราะมีอาหารของเชื้อราเต็มไปหมด ทั้งดิน ต้นไม้ที่ตายแล้ว ซากพืชซากสัตว์ แต่สปอร์ของเชื้อราก็อาจปลิวเข้ามาในบ้านผ่านประตู หน้าต่าง ช่องลม และระบบปรับอากาศ 

เมื่อเชื้อราเข้ามาอยู่ในบ้านแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเจอสภาวะที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ห้องครัว ห้องนอน และจุดอับชื้นต่างๆ ในบ้าน โดยอาหารของเชื้อราภายในบ้าน เช่น ผนังไม้ หนังสือ ต้นไม้ในบ้าน อาหาร เก้าอี้หวาย วอลเปเปอร์ ฝุ่น พรม 

อันตรายจากเชื้อรา

เชื้อรามีความหลากหลายทางชีวภาพมาก โดยมีมากกว่า 100,000 ชนิด แต่เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์มีอยู่ประมาณ 100 ชนิด 

โดยทั่วไปร่างกายมีภูมิคุ้มกันทำให้ไม่เกิดการเจ็บป่วย แต่เชื้อราอาจสร้างปัญหากรณีที่เป็นเชื้อราชนิดที่สร้างสารพิษ หรือหากร่างกายคุณอยู่ในช่วงอ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจ รวมถึงเด็ก คนชรา และผู้ที่มีความไวต่อเชื้อรา

การสูดดมหรือสัมผัสเชื้อราอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง ตา หรือจมูก และอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ จาม คลื่นไส้ เป็นไข้ แต่ผู้ที่มีอาการแพ้ก็อาจทำให้เกิดโรคหอบหืด โรคปอด ปัญหาทางเดินหายใจ และปัญหาระบบทางเดินอาหาร  

วิธีกำจัดเชื้อราในบ้านทำอย่างไร 

ให้คุณเป็นนักสืบช่างสังเกตก็พอ ใช้ตาดู จมูกดมกลิ่น (อับชื้น) แล้วตรวจให้รอบบ้านว่ามีเชื้อราหรือไม่ 

ส่วนเชื้อราในที่ที่คุณมองไม่เห็น ก็ไม่ต้องกังวลใจหรือไปปรึกษาเชอร์ล็อก โฮล์มส์ กรณีนี้ขอให้คุณสังเกตคราบน้ำที่ฝ้าเพดาน รอยแตกตามผนัง รอยน้ำรั่ว รองผุพังของพื้น และรอยสีถลอกที่ผนัง เพราะร่องรอยเหล่านี้เป็นสัญญาณว่ามีการรั่วซึมของน้ำ ทำให้เกิดความอับชื้นที่นำไปสู่การเจริญเติบโตของเชื้อรา  

อุปกรณ์ 

  • อุปกรณ์ป้องกันตัว ได้แก่ หน้ากาก N95 ที่มีขนาดพอดีกับใบหน้า แว่นตา ถุงมือยาง เสื้อผ้ารัดกุมมิดชิด รองเท้าบู๊ทยาง 
  • อุปกรณ์ทำความสะอาด ได้แก่ ผ้า แปรงขัดพื้น แปรงสีฟัน ถังน้ำ ไม้ถูพื้น

ผลิตภัณฑ์

  • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ได้แก่ แอลกอฮอล์ น้ำยาซักผ้าขาว น้ำส้มสายชู เบกกิ้งโซดา มะนาว เกลือ
  • ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ขึ้นอยู่กับการใช้งาน

วิธีกำจัดเชื้อรา

เชื้อราเกิดขึ้นได้บนหลากหลายพื้นผิว โดยเฉพาะพื้นผิวที่มีลักษณะเป็นรูพรุน การกำจัดเชื้อราจึงต้องใช้วิธีให้เหมาะสมกับแหล่งเชื้อรา 

1. กระเบื้องและปูนยาแนว  

สำหรับทำความสะอาดพื้นกระเบื้องที่มีพื้นที่ใหญ่ ผสมน้ำยาซักผ้าขาว 1 ถ้วยตวง หรือประมาณ 300 มิลลิลิตร กับน้ำ 1 แกลลอน เช็ดบนเชื้อราและทิ้งไว้ 15-30 นาทีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อรา แล้วเช็ดออกด้วยน้ำ

สำหรับการเจาะลึกเพื่อขจัดคราบเชื้อราในร่องยาแนว ผสมน้ำและน้ำส้มสายชูในอัตราส่วน 1:1 เทใส่ขวดสเปรย์ ฉีดพ่นไปตามร่องยาแนว ทิ้งไว้สักครู่ จากนั้นใช้แปรงสีฟันขัดเชื้อราออก 

2. เฟอร์นิเจอร์หนังและเครื่องหนัง  

พื้นผิวที่ทำจากหนัง ทั้งโซฟา เสื้อโค้ท รองเท้า และกระเป๋า หากมีเชื้อราขึ้น ถ้าเป็นไปได้ให้นำเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องหนังออกไปกำจัดเชื้อราข้างนอกบ้าน เพื่อป้องกันสปอร์ฟุ้งกระจาย 

ก่อนอื่น ใช้แปรงปัดเชื้อราออก ตามด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำส้มสายชูเช็ดไปบนบริเวณที่มีเชื้อรา เช็ดน้ำส้มสายชูออกด้วยสบู่ทำความสะอาดหนังและน้ำอุ่น เช็ดให้แห้งด้วยผ้านุ่ม และผึ่งลมจนแห้งสนิท  

3. กระดาษและหนังสือ  

สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำให้กระดาษหรือหนังสือแห้งสนิทก่อนจัดการกับเชื้อรา เพราะกระดาษที่เปียกชื้นจะทำให้สปอร์ของเชื้อรากระจายไปจุดอื่นๆ ได้ นำกระดาษหรือหนังสือไปตากแดดให้แห้ง หรือใส่กล่องที่ปิดมิดชิด โดยใส่ซิลิก้าเจลหรือแป้งข้าวโพดในกล่องเพื่อดูดความชื้น 

เมื่อแห้งสนิท นำกระดาษหรือหนังสือออกไปข้างนอกบ้าน ใช้แปรงปัดฝุ่นออกให้หมด จากนั้นใช้ผ้านุ่มชุบไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เช็ดบริเวณที่มีเชื้อรา โดยให้นำกระดาษเคลือบมันคั่นแต่ละหน้าก่อนเช็ดเพื่อป้องกันการซึมไปถึงหน้าอื่นๆ ผึ่งลมให้แห้งสนิทก่อนเช็ดหน้าถัดไป 

ทั้งนี้ หากกระดาษและหนังสือของคุณเป็นหนังสือทั่วๆ ไป คุณอาจพิจารณาทิ้งเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อรา แต่หากหนังสือของคุณมีคุณค่ามาก ขอแนะนำให้ใช้บริการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาช่วยดูแล 

4. พื้นผิวที่เป็นผ้าและเสื้อผ้า  

ขั้นตอนแรกให้คุณกำจัดเชื้อราออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยการใช้แปรงปัด เราขอแนะนำให้ทำนอกบ้านเพื่อป้องกันการปลิวของสปอร์ภายในบ้าน จากนั้นให้คุณตรวจสอบฉลากแนะนำการซักอีกครั้งเพื่อไม่ให้เสื้อผ้าเสียหาย 

หากเสื้อผ้าสามารถซักด้วยน้ำร้อนได้ ให้คุณซักน้ำร้อนที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยหากเป็นไปได้ ให้ใช้อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เพราะจะได้ฆ่าเชื้อไวรัสไปพร้อมกัน คุณอาจเติมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคลงไปด้วยตอนซัก หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าสูตรฆ่าเชื้อโรคอย่าง โอโมพลัส แอนตี้แบค  

สำหรับการกำจัดเชื้อราบนผ้าแบบเน้นเฉพาะจุด ให้ใช้น้ำส้มสายชูใส หรือส่วนผสมของน้ำมะนาวกับเกลือ ทาไปบนบริเวณที่มีเชื้อราและทิ้งไว้ 15 นาที ก่อนจะซักผ้าตามปกติ 

5. เฟอร์นิเจอร์ไม้และพื้นไม้

หากเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดไม่ใหญ่และเคลื่อนย้ายได้ ให้ยกออกไปจัดการข้างนอกบ้าน แต่หากเป็นเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่หรือพื้นไม้ ให้ระมัดระวังการฟุ้งกระจายของเชื้อราระหว่างกำจัดเชื้อรา

ใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดเชื้อราบนพื้นผิวออกก่อน ใช้น้ำส้มสายชูสเปรย์ไปบนเฟอร์นิเจอร์หรือบริเวณพื้นที่มีเชื้อรา ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมงแล้วเช็ดออกด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ หรือจะใช้แอลกอฮอล์เช็ดก็ได้ ทำซ้ำจนเชื้อราหลุดออกหมด 

หากคราบเชื้อราฝังลึก ให้ใช้กระดาษทรายขัดบริเวณที่เป็นเชื้อราออก โดยให้ใช้กระดาษทรายหยาบขัดก่อน จากนั้นเก็บรายละเอียดให้เนียนเรียบด้วยกระดาษทรายขัดละเอียด เมื่อขัดเสร็จ ให้เช็ดทำความสะอาดและทาแลคเกอร์ทับ 

6. เครื่องปรับอากาศ

หากพบว่ามีคราบเชื้อราที่ด้านนอกของเครื่องปรับอากาศ หยุดการใช้เครื่องปรับอากาศก่อนเพราะอาจมีเชื้อราด้านใน ถอดแผ่นกรองอากาศออก เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ หรือล้างแอร์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

7. พื้นผิวพลาสติก  

กล่องข้าวพลาสติก เขียงพลาสติก หรือของเล่นเด็ก หากล้างไม่ดีก็อาจทำให้เป็นแหล่งเจริญเติบโตของเชื้อราได้ เพราะระหว่างใช้งานอาจมีการเปรอะเปื้อนอาหารหรือน้ำลาย 

เนื่องจากของเหล่านี้ต้องสัมผัสกับอาหารและเป็นสิ่งของที่ใช้กับเด็ก จึงต้องอ่อนโยนและไม่มีสารตกค้าง จึงควรกำจัดเชื้อราบนพลาสติกเหล่านี้ด้วยวิธีธรรมชาติ โดยผสมน้ำส้มสายชูใส ½ ถ้วยกับน้ำร้อน 1 แกลลอน แช่ชิ้นส่วนต่างๆ ลงไป 1 ชั่งโมงก่อนล้างออก

หากคุณไม่มีเวลามาก เราขอแนะนำให้ลองมองหาผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดชนิดที่ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ได้กับพื้นผิวหลายชนิดแบบขวดเดียวจบอย่างโปรแม็กซ์ ซึ่งมีสารโซเดียมไฮโปคลอไรต์ที่รับรองโดยองค์การอนามัยโลก

บอกลาเชื้อราอย่างถาวร

หลังจากกำจัดเชื้อราหมดแล้ว คุณควรใช้วิธีป้องกันไม่ไห้เชื้อรากลับมาอีก ถึงแม้การป้องกันเชื้อราจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะสปอร์ของเชื้อรามีอยู่ทั่วไปหมดในอากาศ แต่หัวใจหลักของการป้องกันเชื้อราก็คือควบคุมความชื้นซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเจริญเติบโตของเชื้อรา ลองมาดูจุดสังเกตและวิธีป้องกันเชื้อราในห้องต่างๆ   

1. ห้องน้ำ  

สาเหตุการเกิดเชื้อราในห้องน้ำมีครบครัน ทั้งความเปียกชื้น อับแสง และสิ่งสกปรกจากร่างกาย ให้คุณหมั่นตรวจสอบพื้นที่อาบน้ำ อ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า ด้านหลังสุขภัณฑ์ ผ้าม่าน และร่องยาแนว เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ให้มีเชื้อรา โดยหากพบเชื้อรา ก็ให้รีบกำจัดก่อนจะลุกลาม 

คุณควรติดตั้งพัดลมดูดอากาศในห้องน้ำ เพื่อเปิดระบายอากาศทุกครั้งหลังอาบน้ำเสร็จ นำพรมเช็ดเท้าออกไปตากแดดบ่อยๆ เช็ดพื้นให้แห้งหลังอาบน้ำ และหมั่นตรวจสอบว่าท่อต่างๆ มีรอยรั่วหรือไม่ 

2. ห้องครัว  

ในห้องครัวมีอาหารและมีความชื้นจากการทำอาหารและล้างอุปกรณ์ต่างๆ จึงเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยจุดที่มีเชื้อราง่าย ได้แก่ อ่างล้างจาน ตู้เย็น ไมโครเวฟ เตา และบนเคาน์เตอร์ 

การลดการเกิดเชื้อราในห้องครัว ให้คุณระบายอากาศโดยการเปิดหน้าต่างหรือเปิดพัดลมดูดอากาศขณะทำอาหาร ล้างจานทุกวันโดยไม่กองทิ้งไว้ นำขยะออกไปทิ้งไม่ให้ล้น ทำความสะอาดสม่ำเสมอ รวมถึงวางถ่านในตู้เย็นและจุดต่างๆ เพื่อดูดความชื้น

3. ห้องนอน

จุดที่คุณควรใส่ใจเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราในห้องนอน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ พรม ขอบหน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ในห้อง รวมไปถึงผ้าปูที่นอนและปลอกหมอน 

วิธีป้องกันการเกิดเชื้อราในห้องนอน คือ ไม่นอนบนเตียงหากผมหรือร่างกายยังเปียกอยู่ หมั่นเปิดประตูและหน้าต่างเพื่อระบายความชื้น และล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ 

4. ห้องนั่งเล่น

อีกห้องหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราก็คือห้องนั่งเล่น เพราะมีจุดเสี่ยงมากมายที่คุณควรหมั่นสังเกตุ เช่น เบาะ โซฟา ผ้าม่าน พรม ต้นไม้ในบ้าน พื้นไม้ และเครื่องปรับอากาศ

คุณสามารถป้องกันเชื้อราในห้องนั่งเล่นได้โดยหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดความชื้นสะสม เช่น หากมีเครื่องดื่มหกก็ให้รีบเช็ดให้แห้งโดยไม่ปล่อยให้น้ำซึมในพรมหรือพื้นไม้ ปิดประตูและหน้าต่างเวลาฝนตกเพื่อป้องกันฝนสาดเข้ามา ไม่รดน้ำต้นไม้ในกระถางให้แฉะเกินไปจนมีน้ำขัง นำหมอนบนโซฟาออกไปตากแดด รวมถึงเปิดประตูและหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ  จริงอยู่ที่เชื้อราในบ้านกำจัดได้ไม่ยาก แต่หากเชื้อราครอบคลุมพื้นที่กว้างเกิน 10 ตารางฟุต คุณควรมองหาผู้เชี่ยวชาญในการทำความสะอาดมาช่วยจัดการเสียนะ